วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การลงทุนภาครัฐบาล (บทความ)

การลงทุนภาครัฐบาล (บทความ)



By THannakorn MoonThun
      http://picta55.blogspot.com/2014/08/blog-post_16.html







   การลงทุนโดยภาครัฐบาล เป็นตัวแปรที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะ ปานกลางความต่อเนื่องจากทั้งสองระยะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจระยะยาวก้าวไปข้างหน้าต่อไปขณะเดียวกันก็เป็นการเปลี่ยนเงินออมของประชาชน ให้เป็นทุนของสังคม เป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ไม่เพียงแต่ในระบบการคมนาคมและการขนส่ง แต่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสาขาเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น การโทรคมนาคม การสื่อสาร การผลิต รวมทั้งสาขาบริการด้านอื่น
   ในทุกขั้นตอนของการพัฒนาในระยะเริ่มต้น ขณะที่การสะสมทุนของภาคเอกชนกำลังก่อตัวขึ้น ความแน่ใจหรือความมั่นใจของผู้ร่วมทุนต่างชาติ รวมทั้งความมั่นใจของตลาดทุนยังไม่แน่นอนครบถ้วน การเริ่มด้วยการลงทุนโดยภาครัฐบาลจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลเป็นผู้เริ่มลงทุนแล้ว ภาคเอกชนก็จะเป็นผู้ลงทุนตามมา จนทำให้ระบบเศรษฐกิจเจริญขึ้นสู่ระดับพัฒนาขั้นต่อไป

   ในขณะที่ประเทศที่ระบบการเมืองยังไม่พัฒนาอย่างประเทศไทยความหวาดระแวงของคนเมืองหลวงต่อพรรคการเมืองที่ตนไม่ได้เลือก การสร้างกระแสต่อต้านการลงทุนของภาครัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงการใหญ่จะสามารถทำได้อย่างไร แม้ว่าข้อมูลที่ถูกปล่อยให้กับสาธารณชนเป็นข้อมูลที่ไม่จริง เป็นข้อมูลที่ไม่ได้วิเคราะห์ แม้ว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ฝ่ายรัฐบาลมีหน้าที่อธิบาย มีหน้าที่ชี้แจง ฝ่ายองค์กรอิสระมีหน้าที่ตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดการกระทำมิชอบหรือไม่ เมื่อรัฐบาลได้ทำก็ดูเหมือนทุกฝ่ายจะเชื่อว่า ถ้ามีการลงทุนลงไป ก็จะมีการทุจริตปฏิบัติไม่ชอบเกิดขึ้นแน่


(ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต  ไม่เกี่ยวข้องกับผู้เขียนบทความ)

   การตราพระราชกำหนดก็ดี การตราพระราชบัญญัติให้อำนาจกู้ยืมเงินจากประชาชนคนไทยเพื่อนำมาลงทุน ก็ถูกโจมตีว่าสร้างหนี้ให้กับลูกหลาน ทั้ง ๆ ที่เป็นการกู้เงินบาท กู้จากประชาชนภายในประเทศ ไม่ใช่การกู้จากต่างประเทศ รัฐบาลเป็นผู้ออกพันธบัตรเป็นลูกหนี้ ประชาชนคนไทยเป็นเจ้าหนี้ แต่ไม่มีใครนำมาพูดกัน ทุนสำรองก็มั่นคง เมื่อกู้เงินบาทมาแล้ว หากจะต้องชำระเงินเพื่อการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เอาเงินบาทซื้อเงินตราต่างประเทศจากตลาดภายในประเทศ ตลาดและธนาคารกลางก็จะปรับไปตามระบบเอง ไม่มีอันตรายอะไร แต่ในระบอบการปกครองในรูปแบบที่ผ่านมา รวมทั้งโครงสร้างของผู้ออกเสียงเป็นอย่างที่เป็น กล่าวคือคนกรุงเทพฯ ยังมีเสียงดัง มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นกระบอกเสียง โครงการพัฒนาขนาดใหญ่คงจะไม่เกิด ที่จะเกิดได้ก็มีโครงการรถไฟฟ้าหรือรถใต้ดินในกรุงเทพฯและชานเมืองเท่านั้น เพราะคนกรุงเทพฯได้ประโยชน์

     คุณูปการที่คณะรัฐประหารจะทำได้และน่าทำ ก็คือผลักดันโครงการพัฒนาประเทศขนาดใหญ่ เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการรางรถไฟความกว้างมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย ส่วนระบบราง 1 เมตร น่าจะเลิก รื้อทิ้งไปเสียดีกว่า เพราะเป็นระบบเก่า ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาซ่อมแซม ก็น่าจะไม่ต่างกันมาก ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะเก็บรักษาเอาไว้ทำไมกัน เคยไปเห็นระบบขนคนโดยระบบรางของอังกฤษ ของยุโรป รวมทั้งของญี่ปุ่น ที่เขาทำเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันหมด แล้วเขาก็เลิกใช้หัวรถจักรดีเซลที่ใช้น้ำมัน เปลี่ยนไปใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหมด เป็นการประหยัดพลังงานไปในตัวด้วย
   
    ถ้าสามารถผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่เป็นโครงการจัดการบริหารน้ำและโครงการพัฒนาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคมขนส่ง ทั้งท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ระบบโทรคมนาคม 3 จี 4 จี ระบบขนส่งทางราง รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง เพราะถ้าพ้นจากนี้ไป เมื่อมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ก็คงไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้อีก เพราะการคัดค้านของฝ่ายค้านที่ค้านทุกเรื่องไป แต่คงไม่กล้าค้านการปกครองระบบทหาร หรือ "Military Junta" ดูแล้วเหมือน ๆ จะชอบเสียด้วย เพราะถ้าสามารถผลักดันโครงการคมนาคมขนส่งสมัยใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ก็จะเปลี่ยนโฉมการพัฒนาของประเทศไทยไปอีกแบบหนึ่งเลย
เท่าที่ได้ยินมา ที่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ก็คือการปฏิรูประบบภาษีอากรที่ไม่ใช่ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะเป็นภาษีอากรอย่างอื่น เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ภาษีทรัพย์สิน เช่น ภาษีอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งภาษีมรดก เรื่องภาษีเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อน และมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ ตามกลไกของโลก สำหรับหลักการความคิดในเรื่องภาษีอากร รวมทั้งหน้าที่ของภาษีอากรแต่ละอัน

(ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต  ไม่เกี่ยวข้องกับผู้เขียนบทความ)

   การคิดเอาอย่างง่าย ๆ ตามกระแสการเมือง ที่มิได้มาจากรากฐานตามหลักการ การจะตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจโดยจะใช้ภาษีอากรเป็นเครื่องมือ ดูเผิน ๆ ก็อาจจะดี ภาษีเป็นเครื่องมือที่เลวที่สุดที่จะใช้เพื่อเป้าหมายในการกระจายรายได้ ได้มีหลักฐานพิสูจน์กันแล้วว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีที่มีลักษณะถดถอยที่สุด กล่าวคือ ส่วนใหญ่ของผู้ที่เสียภาษีเงินได้คือผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนและค่าจ้าง ซึ่งไม่ใช่คนที่รวยที่สุด ส่วนคนที่รวยที่สุดคือผู้ที่มีรายได้เป็นดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า และ Capital Gains คือจากการที่ทรัพย์สินของเขามีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งรายได้ประเภทนี้ไม่ต้องเสียภาษี หรือไม่ก็เสียภาษีในอัตราต่ำ เพราะประเทศต่าง ๆ เขาไม่เก็บกัน ถ้าเราเก็บในอัตราสูงอยู่ประเทศเดียว เงินทุนก็ไหลออกไปนอกประเทศหมด ฉะนั้น เป้าหมายของภาษีเกือบทุกชนิดคือการสร้างความสามารถที่จะแข่งขันได้
   ภาษี ที่ไม่เกี่ยวกับการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งคือภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ ก็เป็นภาษีที่ได้รับการต่อต้านจากนายทุนผู้ผลิตและผู้ขายส่งขายปลีกรวมทั้ง สื่อมวลชนด้วย จึงเป็นภาษีที่แตะต้องไม่ได้
   ถ้าฝ่ายทหารจะหันมาดูโครงสร้างภาษี ก็คงต้องตระหนักถึงเรื่องต่าง ๆ หลายเรื่อง ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะจะมีผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประสิทธิภาพของการบริหารการจัดเก็บภาษี ที่สำคัญก็คือความซื่อสัตย์สุจริตของพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บ ต้องพยายามให้มีการใช้ดุลพินิจของพนักงานจัดเก็บภาษีให้น้อยที่สุด เพราะถ้าให้เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจในการประเมินมูลค่าก็ดี ประเมินจำนวนเงินภาษีก็ดี ประเมินข้อยกเว้นลดหย่อนภาษีก็ดี ซึ่งล้วนเป็นช่องโหว่ของกฎหมายภาษีทั้งสิ้น และถ้ามีช่องโหว่ทางกฎหมายทำให้บางคนหนีภาษีได้ บางคนเลี่ยงภาษีได้ ก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษี ความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษี ก็ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ผู้ที่เสียภาษีโดยสุจริตก็จะอยู่ไม่ได้ ในที่สุดก็จะถูกบังคับให้หนีหรือเลี่ยงภาษีเช่นเดียวกับคู่แข่งของตน อย่างที่เคยเป็นมาในกรณีภาษีการค้าในสมัยก่อน
   ทางที่ดี เรื่องสำคัญทางเศรษฐกิจที่ต้องตราเป็นกฎหมาย ก็น่าจะรอให้มีสภานิติบัญญัติช่วยกลั่นกรองเสียอีกที แม้ว่าจะเสียเวลาไปบ้าง แต่ก็คิดว่าไม่น่าจะนานเกินรอ แต่ก็ไม่ควรจะนานเกินไปจนหมดอายุสภา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น